top of page
Search

Child Grooming: “กรูมมิ่ง” คืออะไร ทำไมสังคมไทยต้องเข้าใจสักที?

  • sherothailand
  • Mar 25
  • 2 min read


ทุกนาที มีเด็กจำนวนมากที่ถูกทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม รายงาน Disrupting Harm in Thailand: หลักฐานเกี่ยวกับแสวงหาประโยชน์ทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ จากศูนย์วิจัยอินโนเซนติขององค์การยูนิเซฟ ระบุว่ามีเด็กเพียง 1-3% เท่านั้น ที่เลือกจะแจ้งตำรวจเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ และเด็กอีกจำนวนมากที่เลือกไม่เล่าให้ใครฟัง เพราะไม่ทราบช่องทางขอความช่วยเหลือ หรือไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เจอเป็นเรื่องร้ายแรง


ตามนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เด็ก คือคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เด็กทุกคนมีสิทธิในร่างกายตัวเอง และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความ

คิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย

ตามนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ “เด็ก” คือคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เด็กทุกคนมีสิทธิในร่างกายตัวเอง และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย


การเข้าหา/ตระเตรียมเด็กเพื่อการละเมิดทางเพศ หรือที่อาจรู้จักกันในชื่อ “การกรูมมิ่ง (Grooming)” คือกระบวนการที่ผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กเข้าหาเด็ก  ผ่านการเริ่มความสัมพันธ์และสร้างความไว้วางใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อหลอกล่อ ล่วงละเมิดทางเพศ ตระเตรียมเด็กเผื่อแสวงผลประโยชน์ทางเพศ รวมถึงการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจเด็ก 

ผู้ที่กรูมมิ่งเด็กอาจคนเป็นใกล้ตัวหรือคนแปลกหน้าก็ได้ เช่น คนในครอบครัว รุ่นพี่ พี่เลี้ยง เจ้านาย เพื่อนออนไลน์ ฯลฯ หรือคนที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของตน เช่น ครู ผู้นำทางศาสนา หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ 


ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการกรูมมิ่ง คือการที่ผู้กระทำใช้ประโยชน์จากอำนาจครอบงำที่มีมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอายุ ประสบการณ์ สถานะทางสังคม เพศ  สถานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เข้าหาเด็กเพื่อสร้างสถานะที่นำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ จนนำไปสู่การตกอยู่ในสภาวะพึ่งพาทั้งในเชิงกายภาพและเชิงความรู้สึก กระทั่งถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์อื่นรอบข้างไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือออกจากความสัมพันธ์ได้โดยง่าย และในบางกรณีอาจนำไปสู่ ความรุนแรงแบบการบังคับควบคุม (coercive control) ได้


การกรูมมิ่งอาจกินเวลาเป็นระยะสัปดาห์ไปจนถึงหลายปี นอกจากนี้ ผู้กระทำมักสร้างความสนิทสนมกับคนรอบตัวของเด็ก เช่น กลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจ และทำให้เด็กและคนรอบตัวคิดว่าการกระทำเหล่านี้เป็นพฤติกรรมปกติ ไม่อันตราย 


ข้ออ้างที่พบได้บ่อยจากผู้กระทำ เช่น 

  • “ยังไม่เคยทำอะไรเกินเลยผิดกฎหมาย” 

  • “เข้าตามตรอกออกตามประตู”

  •  “อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง” “เป็นแค่รักต่างวัย” 

  • “เด็กคนนี้ความคิดโตกว่าวัยมาก ไม่เหมือนเด็กคนอื่น” 

  • “ทุกอย่างเป็นความต้องการของเด็ก” 

  • “ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว”

  •  “เอ็นดูเหมือนลูกหลาน” หรือ “ไม่ได้เป็นพวกใคร่เด็ก (pedophile) พวกใคร่เด็กจะต้องชอบเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีเท่านั้น”


กลุ่มเสี่ยงต่อการถูกกรูมมิ่ง


เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีเพศหรือสถานะอะไรก็ตาม เสี่ยงต่อการถูกกรูมมิ่งได้ทั้งหมด เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ มีประสบการณ์และอำนาจน้อย เข้าถึงความรู้ ทรัพยากร และการให้คุณค่าทางสังคมต่าง ๆ ได้น้อยกว่า จึงไม่สามารถให้ความยินยอมได้อย่างเต็มรูปแบบ (อ่านเพิ่มเติม: ความยินยอม (Consent) คืออะไร) ถูกควบคุมได้ง่ายกว่า รับรู้ถึงการแสดงความรักแบบผิด ๆ น้อยกว่า เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบและการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย ผู้กระทำจึงมีโอกาสลอยนวลพ้นผิดมาก


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ถูกทำให้เปราะบางจากความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฎิบัติ เช่น เด็กและเยาวชนเพศหลากหลาย เด็กที่โตมาในครอบครัวที่มีความรุนแรง เด็กที่อยู่กับความพิการ เด็กผู้พลัดถิ่น เป็นต้น





ขั้นตอนและรูปแบบของการกรูมมิ่ง 


การกรูมมิ่งอาจจับสังเกตได้ยาก เนื่องจากผู้กระทำมักสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการแสดงความรักความห่วงใยแบบปกติทั่วไป พร้อมทั้งหลอกล่อให้เด็กเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการของเด็กเอง รูปแบบของการกรูมมิ่งนั้นมีเทคนิคขั้นตอนที่ซับซ้อน ส่วนมากมักเกิดขึ้นอย่างมีขั้นตอนเป็นแบบแผน หรือเกิดในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเฉพาะเจาะจงก็ได้ เช่น


  • เลือกเด็กและวางแผนเข้าหา

ผู้กระทำมักเลือกเด็กที่เข้าหาได้ง่าย ขาดคนรอบตัวที่ไว้ใจได้ที่จะคอยสอดส่องดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความเปราะบางและต้องการที่พึ่ง ผู้กระทำอาจเข้าไปขลุกตัวอยู่ในพื้นที่ของเด็ก เช่น โรงเรียน โลกเกมออนไลน์ หรือพื้นที่ของกิจกรรมอื่น ๆ หลังเลิกเรียน และเลือกเข้าหาเด็กที่คิดว่าเข้าถึงและควบคุมได้ง่าย


  • สร้างความไว้วางใจกับเด็กและคนรอบตัว 

ผู้กระทำมักให้ความสนใจกับเด็กอย่างออกนอกหน้า โดยมุ่งเป้าไปที่ความสนใจเฉพาะตัวของเด็ก เช่น วงดนตรีที่ชอบ เกม ทีมกีฬา สังคมออนไลน์ หรือสังคมรอบตัวเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกพิเศษ เป็นที่ยอมรับ ตื่นเต้นเมื่อใช้เวลาด้วยกัน เช่น กล่าวว่า “ความคิดเป็นผู้ใหญ่” “โตเกินวัย” “ไม่เหมือนคนอื่นที่เคยเจอ” หรืออาจอาจคอยชื่นชมหรือให้ของขวัญ ให้คำแนะนำ ให้เงิน คอยรับฟังปัญหา ทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้กระทำรักและสนใจ 

ผู้กระทำอาจเข้าหาคนรอบตัวเด็ก ทำให้คนรอบตัวไว้ใจว่าผู้กระทำเป็นห่วงเด็กจากใจจริง ลดความเสี่ยงที่จะถูกมองเป็นภัยคุกคาม “เข้าตามตรอกออกตามประตู” “ทำอะไรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่” “เพราะรักจริงเลยพยายามจองตัวไว้ก่อน”


  • แยกเด็กออกจากคนรอบตัว

ผู้กระทำมักทำให้เด็กรู้สึกว่าพึ่งพาแค่ตนก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องมีคนอื่นอีก เพราะคนอื่นไม่อาจเข้าใจเด็กได้ดีเท่าตน ชักชวนให้ใช้เวลากันตามลำพัง ทำให้ในอนาคตเด็กสามารถปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ยาก เพราะรู้สึกว่าตนเป็นคนตัดขาดความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเอง หรือรู้สึกว่าคนอื่นแค่อิจฉาหรือไม่เข้าใจความพิเศษของความสัมพันธ์นี้ “ไม่มีใครเข้าใจหรือรักเธอเท่าฉัน” “มีแค่ฉันที่ช่วยเธอได้ คนอื่นไม่สำคัญ”


  • ทำให้เด็กชินกับพฤติกรรมที่เป็นการทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศ

เมื่อเด็กเริ่มไว้วางใจแล้ว ผู้กระทำอาจค่อย ๆ แสวงประโยชน์จากความไว้ใจ ความต้องการเป็นที่รักของเด็ก ทำให้เด็กเริ่มสับสนเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ โดยอาจอ้างว่า “ไม่ไว้ใจกันเหรอ คนรักกันที่ไหนก็ทำแบบนี้” “อยากทำให้ความสัมพันธ์จริงจังมากขึ้น” เช่น 

  • อาจจะเริ่มจากการพูดคุยเรื่องเพศ

  • ชวนให้ดูสื่อที่ทำให้ความใคร่เด็กหรือการล่วงละเมิดทางเพศเด็กดูเป็นเรื่องปกติ โดยอาจใช้สื่อที่เด็กชื่นชอบเป็นตัวกลาง เช่นเกมหรือการ์ตูน

  • ส่งภาพลามกอนาจารให้ดู 

  • ชวนเล่นบทบาทสมมติเกี่ยวกับเรื่องเพศ สัมผัสร่างกาย กอดจูบ โดยอ้างว่าเป็นการแสดงความรัก 

  •  พาเข้าสู่วงสังคมที่ยอมรับคนใคร่เด็ก (pedophilie) และทำเหมือนการกรูมมิ่งเป็นเรื่องปกติ เช่น กลุ่มคนที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก กลุ่มเพื่อนของผู้กระทำ

  • หรือในบางกรณี ผู้กระทำอาจทำการกรูมมิ่งเด็กไว้ล่วงหน้า และเริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่อเด็กบรรลุนิติภาวะหมาด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย 


  • สร้างอำนาจเพื่อควบคุมเด็ก

เมื่อผู้กระทำได้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กหรือทำร้ายแล้ว ก็จะควบคุมให้เด็กเชื่อฟังและไม่ตั้งคำถามกับตน เข้าสู่วงจรความรุนแรง (cycle of abuse) (อ่านเพิ่มเติม: Why are people trapped in abusive relationships? ทำไมคนยังติดกับในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง?) เช่น หลอกล่อด้วยผลประโยชน์อื่น ๆ ให้เงิน ของขวัญ แสดงออกถึงความรักเมื่อเด็กแสดงออกทางเพศอย่างที่ตนต้องการ  หรือทำให้เด็กเกิดความรู้สึกผิด (guilt-trip) เมื่อเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจหรืออยากออกจากความสัมพันธ์ โดยอ้างว่า “ทำไปเพราะหวังดี” “ทำไปเพราะรัก” “ไม่ได้สึกหรอสักหน่อย” “คนอื่นไม่เข้าใจหรอก เรารักกัน จะผิดได้ยังไง” บางกรณี

ทำให้เด็กรู้สึกไร้ทางออก ขอความช่วยเหลือไม่ได้ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองและคนรอบข้าง ด้วยคำพูดเช่น  “พูดไปใครจะเชื่อเด็กใจแตก” “ทุกคนก็เห็นว่ายอมเองแต่แรก จะมาเรียกร้องอะไรทีหลัง” “จงใจทำให้ผู้กระทำเสียชื่อเพื่อจะเรียกเงิน” หรือข่มขู่จะนำภาพหรือคลิปลับส่วนตัวไปเผยแพร่ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3408192819411444&id=1891984764365598&_rdr ไม่ก็ขู่ว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ทำให้เสียอนาคต


ผลกระทบของการกรูมมิ่ง


พฤติกรรมของผู้กระทำอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเด็กได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ 

  • ทางด้านสุขภาพ เช่น โรคติดต่อทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม  การถูกทำร้ายร่างกาย มีพฤติกรรมการกินหรือนอนผิดปกติ มีภาวะพึ่งพิงยาเสพติดและแอลกอฮล์ ฯล

  • ทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ การถูกล่วงละเมิดทางเพศและติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไร้อำนาจ การบังคับควบคุม เอาเปรียบ ทำร้าย รวมถึงการถูกปลูกฝังแนวคิดโทษเหยื่อ (victim blaming) ส่งผลทำให้เด็กเกิดความคิดโทษตัวเอง รู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายผิด อาจนำไปสู่ความรู้สึกอับอาย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองและคนรอบข้าง มีความคิดฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง และทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าสังคมหรือสร้างความสัมพันธ์อื่น ๆ  เนื่องจากถูกทำลายความมั่นใจ ถูกขโมยโอกาสที่จะเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับวัย ถูกตัดขาดจากคนรอบตัว และถูกปลูกฝังแนวคิดเรื่องการแสดงออกถึงความรักที่ผิด ซึ่งให้เกิดความเสี่ยงต่อการตกอยู่ในวงจรความรุนแรงในความสัมพันธ์อื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย



ช่องทางสนับสนุนผู้เสียหายและแจ้งเอาผิดผู้กระทำผิด


เด็กทุกคนมีสิทธิในร่างกายและความปลอดภัยของตน และการกรูมมิ่ง ไม่ใช่ความผิดของเด็กในทุกกรณี 


หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่


สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

โทรศัพท์ 1387 มูลนิธิสายเด็ก

โทร 053-920-588 The Hug Project

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196

www.thaihotline.org แจ้งลบรูปภาพหรือวิดีโอ


การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก มีความผิดทางกฎหมายร้ายแรงในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการทำอนาจาร การกระทำชำเรา หรือผลิตและการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก


แม้ไม่ใช่ผู้เสียหาย ก็สามารถแจ้งความดำเนินการได้ที่ 


สายด่วน 191 

เฟซบุ๊ก TICAC2016 หน่วยปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ต่อเด็ก (ไทแคค หรือ TICAC-Thailand Internet Crimes Against Children) 

สายด่วน 1599 คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต

https://anticorrupt.moe.go.th แจ้งความครูล่วงละเมิดทางเพศเด็ก



เราในฐานะคนทั่วไป ทำอะไรได้บ้าง


  • หน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนคือการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งเริ่มได้จากการรับฟังและเคารพเด็กอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยและขอความช่วยเหลือ

  • ไม่เพิกเฉย คอยดูแลสอดส่อง ต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทุกรูปแบบ รวมถึงพฤติกรรมและสื่อที่ทำให้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นมุก สื่อเสมือนจริงต่าง ๆ และคอยระวังไม่ให้ผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก พวกใคร่เด็ก หรือผู้กระทำความรุนแรง ได้มีโอกาสเข้าถึงเด็ก หรือมีโอกาสเผยแพร่แนวคิดของตนในพื้นที่สาธารณะ




บรรณานุกรม


 
 
 

Comments


©2021 by Shero Thailand. Proudly created with Wix.com

bottom of page