top of page
Search

10 มายาคติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการข่มขืน

sherothailand

Updated: 2 hours ago



เมื่อพิจารณาจากสถิติที่ปรากฎในระบบและข่าวโดยรวมในไทย (ดู คดีข่มขืนในไทย วิกฤติละเมิดทางเพศ.) อาชญากรรมการข่มขืนถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงทางเพศฐานหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ต้องเร่งอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการจัดการ ในขณะเดียวกัน สถานการณ์วัฒนธรรมการข่มขืน (Rape culture) ในสังคมไทยก็ยังคงเป็นทัศนคติที่น่ากังวล ตั้งแต่ปัญหามุกตลกข่มขืน (rape jokes) ที่ยังคงถูกใช้กันอย่างเป็นเรื่องปกติ จนไปถึงระดับปัญหาอาชญากรรมรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเราที่เกิดขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าสังคมไทยนั้นมีแนวโน้มอดทน (tolorate) และส่งเสริม (encorage) วัฒนธรรมการข่มขืนดังกล่าว นำไปสู่สภาวะหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้ประสบความรุนแรง อาทิเช่น การทำให้การล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติ (normalisation of sexual misconducts) หรือ การที่สังคมมักจะพุ่งเป้าความไม่เชื่อ (skepticism) ไปยังผู้รอดชีวิต และในขณะเดียวกันสังคมเหล่านี้กลับแสดงความเชื่อถือและเห็นใจในคำพูดของผู้กระทำความผิด เป็นต้น (ดู  อดีตรัฐมนตรีข่มขืนดาราสาว. ) 


ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ตามมาจึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่าง “การกล่าวโทษ” (victim blaming) และ “การตีตรา” (stigmatise) ผู้เสียหาย ที่นอกจากจะส่งผลลดทอนกำลังใจผู้เสียหายแล้วก็ยังส่งผลกับความก้าวหน้าในการดำเนินการทางกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม) หรือในการดำเนินการทางกระบวนเยียวยาผู้เสียหาย เช่น ปัญหา “under-reporting” ที่ผู้เสียหาย (ผู้รอดชีวิต) หลายคน หลายกรณีถูกกีดกันหรือโดนบังคับให้ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องด้วยกำแพงและหรือแรงที่มองไม่เห็น อย่างเช่นทัศนคติของสังคม (UN Women, UNODC and UNDP 2017)  เป็นต้น

ในบทความนี้ SHero Thailand อยากชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับ 10 มายาคติอันเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราหรือที่เรียกว่า Rape Myths ที่ทำหน้าที่เสมือน social barriers อันคอยขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างโดยง่าย ควบคู่ไปกับการ debunk ลบล้างความเชื่อที่ผิดผ่านการบอกเล่า “ข้อเท็จจริง” (Facts) หรือมุมมองอีกฝั่งหนึ่งของอาชญากรรมข่มขืน





  1. การข่มขืนเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทุกกรณี (Rape is impossible because it is easily avoided by the person's resistance.): 

ที่มาของมายาคติประการแรกนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าการข่มขืนนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนมีทางเลือก (The matter of choices) ในลักษณะระนาบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่มีพลังอำนาจ (power) หรือ ความสามารถ (capacity) ที่เท่าเทียมกัน เช่น “A สามารถปฏิเสธหรือต่อสู้ขัดขืนหรือวิ่งหนี B ได้ตลอดเวลา” ความเชื่อนี้เป็นทั้งปัญหาความเข้าใจผิด และเป็นการแสดงถึงเจตนาที่มุ่งลดความซับซ้อนของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของมนุษย์ – ในกรณีส่วนใหญ่ของเหตุการณ์การข่มขืน หากสังคมหรือแม้แต่ตัวผู้กระทำความผิดเองมีความเชื่อที่ว่าผู้รอดชีวิตหรือเหยื่อมีองค์ประกอบของทางเลือกเท่ากับผู้กระทำผิดแล้วนั้น สิ่งที่ตามมาจึงมักจะเป็นการลดทอนบริบทย่อยอื่น ๆ (decontextualise) ทำให้ผู้รอดชีวิตกลายเป็นบุคคลในทางนามธรรม (abstract individual) ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะถูกทำให้ผู้รอดชีวิตกลายเป็นคนผิดบาป กล่าวคือการทำให้พวกเขามีหน้าที่ต้องแบกรับการรับผิดชอบทางศีลธรรมเพียงเพราะสังคมเชื่อว่าการเลือกที่จะยอมจํานนต่อผู้ข่มขืนนั้นเป็นสิ่งที่ผิดไปจากหลักการทางความอิสระ (concept of autonomy) ที่ตนเชื่อ (Schwendinger and Schwendinger 1974; Reynolds 2015

ในความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกกรณีที่ทุกคนจะสามารถแสดงความเป็น free agent หรือมีความกล้าหาญได้ตลอดเวลา หลาย ๆ กรณีได้ถูกพิสูจน์หลายครั้งแล้วว่าผู้รอดชีวิตไม่สามารถขยับตัวได้เลยถึงแม้ว่าพวกเค้าจะต้องการก็ตาม เนื่องจากร่างกายและสมองถูกแช่แข็งเพราะความกลัว (ดู The 5 Fs: fight, flight, freeze, flop and friend | Rape Crisis England & Wales and Paralyzed by Fear: Why Many Rape Victims Don’t Resist | Psychology Today) หรือในกรณีที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการแสดงออกถึงอันตรายทางกายภาพอย่างชัดแจ้ง เช่น การบีบบังคับให้มีความสัมพันธ์ทางเพศ (sexual coercion) ก็ยังมีหลายปัจจัย เช่น สภาวะอำนาจที่ไม่เท่ากัน (power imbalance) ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางกาย อำนาจทางสังคม อำนาจทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่สามารถทำให้ผู้ถูกกระทำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยอมจำนนเพื่อเอาตัวรอด หรือต้องการรักษาความสัมพันธ์โดยรวมเอาไว้เพราะหลายปัญหาปัจจัย  

  1. การข่มขืนเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนบางประเภทเท่านั้น:

เมื่อพูดถึงคดีข่มขืนกระทำชำเรา คนกลุ่มแรกที่จะมักถูกพูดถึงในแง่ของการเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอาชญากรรมมักจะเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างผู้หญิง (WHO 2021) ในความเป็นหญิงนั้น ยังมีการถูกเลือกปฏิบัติและถูกจัดกลุ่มจากสังคมในการเป็นกลุ่มเป้าหมายของอาชญากรรมข่มขืนอีกทอดหนึ่ง กล่าวคือ หากเป็นผู้หญิงที่ดีที่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของสังคมแบบปิตาธิปไตยรักต่างเพศ (Heteropatriarchy) ก็จะไม่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา เพราะพวกเขาไม่ได้ “นำตัวเองหรือประพฤติตนให้กลายเป็นเป้าของการข่มขืน” ในขณะเดียวกันผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์ขัดแย้งกับกรอบขนบความเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ดังกล่าวจะถูกข่มขืน เพราะ “ทำตัวเอง” – ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยในแวดวงสังคมที่เป็นตัวแปรทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ถูกข่มขืนตามมายาคตินี้ (Larcombe 2002) เช่น

  1. “การข่มขืนเกิดขึ้นเพราะผู้หญิงแต่งตัวเย้ายวน” 

  2. “ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมักจะเป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่ดี” 


ความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในความเป็นจริง “ทุกคน” สามารถเป็นเป้าหมายของการข่มขืนได้เสมอ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะแต่งตัวเรียบร้อยหรือจะปฏิบัติตัวตามทำนองคลองธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพศใด เชื้อชาติใด สีผิวใด หรือมีสถานะทางสังคมเช่นใดก็ตาม (Brownmiller 1975) ดังนั้นเท่ากับว่าผู้ชายหรือคนเพศหลากหลายก็สามารถตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางเพศได้เช่นกัน (Walfield 2018b)

อนึ่ง การแต่งตัวหรือการปฏิบัติตัวของผู้รอดชีวิต ไม่ควรถูกจัดว่าเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการข่มขืน (ดู What were you wearing? UN exhibit demands justice for survivors of sexual violence | Spotlight Initiative) เพราะการเพ่งเล็งไปที่การแต่งตัวหรือการปฏิบัติตัวของผู้รอดชีวิตนั้นก่อให้เกิดการตำหนิในตัวตนของผู้รอดชีวิตโดยไม่จำเป็นอย่างยิ่ง (victim blaming) นอกจากนี้ ยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้กระทำเป็นผู้ที่ละเมิด autonomy ของผู้ถูกกระทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การลดทอนความเชื่อถือในคำบอกเล่า (credential) ของผู้ถูกกระทำโดยการใช้ประโยชน์จากกรอบ มาตรฐานที่ล้าหลังและเป็นพิษของสังคมปิตาธิปไตย “Sexual assault is indiscriminate. It reaches every part of society” (NASA Aerospace Engineer and assault survivor, Bryan Robles).

  1. ความต้องการทางเพศเป็นแรงจูงใจหลักเพียงอย่างเดียวในการก่อเหตุ: 

มายาคตินี้ทำให้การข่มขืนเป็นเพียงเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์และทำให้เกิดการมองข้ามมุมมองอื่น อย่างเช่นเรื่องอำนาจ ความโกรธ และความต้องการครอบงำผู้ถูกกระทำ มีหลายกรณีที่การข่มขืนไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการทางเพศ แต่เป็นความต้องการที่จะทำโทษและหรือการแสดงความครอบงำ (“rape that is motivated by hostility instead of sex”) เช่นกรณีการข่มขืนระหว่างช่วงสภาวะสงคราม หรือการข่มขืนระหว่างผู้ต้องขัง ฯลฯ (Brownmiller 1975)

  1. ผู้ก่ออาชญากรรมมักเป็นคนแปลกหน้า: 

มายาคตินี้เป็นมายาคติที่แทบจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจที่ทุกครอบครัวสอนให้แก่ลูกหลาน โดยเฉพาะลูกผู้หญิง ที่มาของภาพจำดังกล่าวอาจจะมีที่มา ๆ จากละครน้ำเน่าหลังข่าว นิยาย หรือ สื่ออื่น ๆ ที่มักจะสร้างภาพจำให้ผู้กระทำความผิดเป็นคนแปลกหน้าที่ผู้ถูกกระทำไม่รู้จักกันมาก่อน โดยการเล่าเรื่องหลัก ๆ ที่มักจะพบในมายาคตินี้มักจะเป็นเรื่องราวในทำนองเช่น เหตุเกิดในเวลากลางคืน ณ สถานที่เปลี่ยวผู้คน ผู้ก่อเหตุกระโจนออกมาจากมุมมืด เป็นต้น (Scheppele 1987)

มายาคติดังกล่าวมักถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “การข่มขืนที่แท้จริง” (“real rape”) อันตรงกันข้ามกับการข่มขืนระหว่างคนรู้จักหรือคู่รัก กล่าวคือเป็นการข่มขืนที่มักจะมีความรุนแรงและประกอบไปด้วยองค์ประกอบแห่งความสะเทือนขวัญทางอารมณ์ เมื่อฟังแล้วความเห็นใจสามารถเกิดขึ้นได้ทันที เพราะอย่างไรก็ดีความเป็นคนแปลกหน้าและความเป็นคนอื่นมักจะให้ความรู้สึกของความเป็นปรปักษ์ได้ง่ายมากกว่าการถูกทำร้ายข่มขืนกระทำชำเราโดยคนใกล้ตัว ประกอบกับในแง่ของการเล่าเรื่อง การสืบพยาน หรือการออกข่าว การถูกข่มขืนโดนคนแปลกหน้ามักจะเป็นเรื่องราวที่ฟังดูน่าเชื่อถือเพราะมีองค์ประกอบของความรุนแรงที่ครบถ้วนมากพอที่จะเชื่อว่าตัวผู้ถูกกระทำนั้นไม่ได้โกหก และเพราะส่วนหนึ่งสังคมไทยยังคงมีความเชื่อที่ว่า “หากมีมูลความจริงก็คงจะไม่กล้าเปิดเผยแจ้งความว่าตนได้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา เพราะเป็นเรื่องที่น่าอับอาย” (คำพิพากษาฎีกาที่ 9559/2542) 

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง อาชญากรรมการข่มขืนกระทำชำเรานั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งคนแปลกหน้าและคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนรัก บุพการี ญาติ สามี เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ครูบาอาจารย์ ฯลฯ ในกรณีของประเทศไทยองค์กรย่อยของ UN อย่าง UNWOMEN และ UNDP ได้เปิดเผยสถิติผ่านรายงานผลศึกษาคดีข่มขืนในไทย-เวียดนาม (2017) ว่า “ผู้เสียหายร้อยละ 91 ให้การว่ารู้จักกับผู้ต้องสงสัย” ดังนั้นการด่วนตัดสินว่าการข่มขืนสามารถถูกกระทำโดยคนแปลกหน้าเพียงอย่างเดียวนั้นย่อมส่งผลทำให้ผู้เสียหายที่ถูกกระทำโดยคนใกล้ตัว และอาจจะไร้หลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ ถูกลดทอนและถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงกระบวยการยุติธรรมและการเยียวยา 

  1. ทุกการข่มขืนมักมีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพและหรือมีการใช้อาวุธ: 

มายาคตินี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากการปลูกฝังภาพจำผิด ๆ ในทำนองเดียวกันกับมายาคติก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากสื่อหรือตัวมายาคติ “การข่มขืนที่แท้จริง”ก็ตาม ทั้งนี้ ตัวลักษณะของกฎหมายและวิธีการพิจารณาคดีที่เต็มไปด้วยอคติเองก็ส่งผลทำให้ความเชื่อดังกล่าวนี้เช่นกัน อาทิเช่น การคาดหวังและการพุ่งความสนใจไปที่การทำร้ายร่างกาย ร่องรอยของการขัดขืนหรือการถูกทารุณ ฯลฯ อันมีผลสอดคล้องโดยตรงกับการให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงการข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการใช้กำลังความรุนแรงเสมอไป ในขณะเดียวกันหากมี (ท่าทีของ) การใช้ความรุนแรงจริง ความรุนแรงเหล่านั้นก็มักจะไม่ได้เป็นความรุนแรงถึงขนาดที่จะเป็นเหตุฉกรรจ์ เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้เสียหายมักจะป้องกันไม่ให้เกิดการทำความรุนแรงโดยการจำยอมเนื่องจากความกลัวที่จะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (ถูกฆ่าเนื่องจากขัดขืน) นอกจากนี้ปฏิกริยาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการ freeze ก็ได้เช่นกัน 

  1. การข่มขืนมักปรากฎร่องรอยบาดแผลที่ชัดเจน: 

มายาคตินี้เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากความเชื่อก่อนหน้าที่ว่า ทุกการข่มขืนมักมีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพและหรือมีการใช้อาวุธ เมื่อผู้คนติดภาพจำดังกล่าว ผลที่ตามมาก็ย่อมเป็นการแสดงความหวังที่ว่าตามเนื้อตัวร่างกายของผู้ถูกกระทำนั้นจะต้องมีบาดแผลที่เด่นชัดตามไปด้วย มีหลายกรณีที่ศาลหรือตำรวจใช้ร่องรอยของบาดแผลในการตัดสินว่าผู้เสียหายมีการขัดขืน ทำให้การพิจารณาเรื่องบาดแผลนั้นกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทยในการตามหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการข่มขืน (Asanasak 2021)

ความรุนแรงของบาดแผลมีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อถือในการยืนยัน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการข่มขืน หากบาดแผลมีความรุนแรง เฉพาะอย่างยิ่งถ้าหญิงถึงแก่ชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์อื่นใดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความยินยอม (สมชาย ปรีชาศิลปกุล: เพศวิถีในคำพิพากษา)

เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าที่ประเด็นความยินยอมในสายตาของศาลและตำรวจถูกลดทอนทำให้เหลือเพียงองค์ประกอบที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ถูกข่มขืนอาจจะไม่มีบาดแผลทางกายปรากฎให้เห็นเลยก็ได้ ในทางสถิติได้มีการคาดการณ์ประมาณเอาไว้แล้วว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ถูกกระทำเท่านั้นที่มีร่องรอยบาดแผลที่ชัดเจนปรากฎให้เห็น และการข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการใช้กำลังรุนแรงหรือใช้อาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง (WHO 2003) ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้ข่มขืนจะไม่มีบาดแผลเลยก็ไม่ควรด่วนสรุปตัดสินว่าพวกเขาไม่ได้ถูกข่มขืน 

  1. การพูดคำว่า “ไม่” (การปฏิเสธ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์) หมายความว่า “ใช่” (การยินยอม): 

การแสดงความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงท่าทีถึงความไม่สบายใจและหรือได้ปฏิเสธโดยตรงว่า “ไม่” หรือ “หยุด” นั้นย่อมหมายความว่าอีกฝ่ายจะต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมดโดยทันที เพราะหลักพื้นฐานของการยินยอมนั้นคือ “ไม่ใช่เพียงคำตกลงที่เอ่ยออกมาครั้งเดียว และไม่ใช่การยอมหรือจำยอมของฝ่ายถูกกระทำ (passive) ต่อฝ่ายกระทำ (active) แต่เป็นการสื่อสารต่อเนื่องและการใส่ใจกันและกันในเพศสัมพันธ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับในสิ่งที่ต้องการ และไม่รู้สึกว่าถูกละเมิดในจังหวะที่อ่อนไหว” (อ่านต่อได้ที่: ความยินยอม (Consent) คืออะไร (sherothailand.org)

women are seductresses, women mean “yes” when they say “no,” most women eventually relax and enjoy it, nice girls don’t get raped, and it was only a minor wrongdoing.”   

จากตัวอย่างในโควทข้อความข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้หญิง มายาคติที่ว่า “ไม่” เท่ากับ “ได้หรือใช่” นั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเกลียดชังผู้หญิง (misogyny) การมองผู้หญิงเป็น sex object  และ วัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) ที่คอยบ่มเพาะให้ผู้กระทำความผิดมีความเชื่อที่ว่าตนนั้นมีอำนาจมากพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้อื่นมีเพศสัมพันธ์กับตนได้ 

  1. การข่มขืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างคู่สมรสหรือคู่รัก: 

ตามมุมมองเชิงประวัติศาสตร์กฎหมายในอดีต การข่มขืนระหว่างคู่สมรสนั้นไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักคิดที่ว่าคู่สมรสโดยเฉพาะฝ่ายหญิงนั้นได้กลายเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ส่วนการแต่งงานก็ถูกทำให้กลายเป็นสัญญาและสัญลักษณ์ของ “การยินยอม” ในการร่วมประเวณีระหว่างชายหญิงตลอดระยะเวลาของการแต่งงาน ดังนั้นความยินยอมในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์จึงไม่เคยเป็นสาระสำคัญในสายตาของกฎหมายที่ให้คุณค่าผู้ชายมากกว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กฎหมายของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเองก็เคยยึดถือมุมมองความคิดเช่นนี้ แต่ด้วยความพยายามความของกลุ่มสตรีนิยมที่ผลักดันและต่อต้านให้ความคิดชายเป็นใหญ่ที่ว่า “ภรรยาคือสมบัติของสามี” “ผู้หญิงคือสมบัติของผู้ชาย” ค่อย ๆ ถูกทำลายลงไป ส่งผลให้ในปัจจุบันตัวระบบกฎหมายอาญาของหลาย ๆ รัฐได้ทำลายหลักคิดพื้นฐานนี้และตัดสินให้การข่มขืนระหว่างคู่สมรสนั้นผิดกฎหมายในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในตัวกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะทำให้การข่มขืนระหว่างสามีภรรยากลายเป็นความผิดทางอาญา แต่เมื่อบรรทัดฐานที่ถูกควบคุมโดยปิตาธิปไตยดังกล่าวถูกปฏิบัติและถูกปล่อยปละละเลยมาอย่างช้านาน มายาคติที่ว่าคู่สมรสหรือคู่รักนั้นมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคู่ครองอย่างสิ้นเชิงนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่สังคมยังคงต้องคอยร่วมกันขจัดให้หมดไป  ด้วยการเน้นย้ำว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดของการมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์รูปแบบใดก็ตาม คือ “การเคารพความยินยอม” ณ ขณะนั้นของทุกฝ่าย และการข่มขืนสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างคู่รักหรือคู่สมรสอย่างแน่นอนหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมอย่างแท้จริง

  1. ผู้ขายบริการทางเพศ (sex workers) ไม่สามารถถูกข่มขืนได้: 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ขายบริการทางเพศนั้นถือเป็นกลุ่มที่มีการถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมมากที่สุดเนื่องจากหลายสาเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการดูแคลนเพราะปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา หรือเพศวิถีที่ฉีกจากขนบธรรมเนียม ฯลฯ และเมื่อการมีเพศสัมพันธ์สามารถถูกซื้อขายได้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย มายาคติที่ว่าการข่มขืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้นั้นก็เกิดขึ้นมาจากอุปมานไปเองว่าเมื่อเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ซื้อขายตกลงกันได้ การซื้อขายย่อมมอบสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อบริการในการทำอะไรก็ตามกับผู้ให้บริการได้ ส่วนตัวสถานะของความเป็น “ผู้ขายบริการทางเพศ” ก็มักถูกคาดหมายโดยอัตโนมัติไปเองว่าพวกเขาจะยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้ ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ว่าใครก็สามารถตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมข่มขืนได้ รวมถึงผู้ขายบริการทางเพศ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการซื้อขายหรือไม่ก็ตามคือการเคารพในความยินยอมและความสบายใจของผู้ขายบริการ จากประเด็นนี้ สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือมีผู้คนจำนวนมากที่อาศัยความเปราะบางของผู้ขายบริการในการเอาเปรียบทางเพศและนำไปสู่การข่มขืน โดยจากการสำรวจพบว่าผู้ให้บริการจำนวนมากถูกข่มขืนโดยผู้มาใช้บริการ คนรัก หรือตำรวจ 

  1. หลังเกิดเหตุผู้เสียหายจะต้องแจ้งความโดยทันที: 

ปัญหาเรื่องการแจ้งความถือได้ว่าเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ผู้คนมักจะคาดหวังให้ผู้เสียหายมีการตอบสนอง เสมือนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ในทางการพิจารณาคดี การแจ้งความโดยทันทีสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบคำตัดสินในส่วนของความน่าเชื่อถือของพยานได้ (เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 627/2543) อย่างไรก็ตาม ความเชื่อและแนวทางการปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่อาจจะถือได้ว่าเป็นความคาดหวังที่เกินจริงและเป็นภาระต่อผู้เสียหายอย่างมาก กล่าวคือในทางปฏิบัติควรมีการคำนึงถึงสภาวะจิตใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ การข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการแจ้งความในทันทีหรืออาจจะไม่มีการแจ้งความเลยก็ได้ สาเหตุสำคัญนั้นมาจากความกลัวและความกังวลที่อาจจะเกิดจากตัวผู้กระทำหรือการตรีตราจากสังคม เนื่องจากการโทษผู้เสียหายไม่ใช่เรื่องที่ใหม่โดยเฉพาะในสังคมไทยแต่อย่างใด อีกทั้งปัจจัยทางด้านจิตใจบางอย่างก็อาจจะทำให้ผู้ถูกกระทำมองว่าการข่มขืนกระทำชำเรานั้นเป็นเรื่องส่วนตัว หรือมองว่าถึงแม้ว่าแจ้งความไปก็อาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือตัวผู้ถูกกระทำอาจจะไม่สามารถไปแจ้งความได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าควรเริ่มจากที่ไหน ฯลฯ นอกจากนี้ สภาวะทางจิตใจ (trauma) หรืออารมณ์ที่ไม่มั่นคงและสภาวะสับสนที่ทำให้ไม่สามารถจำเรื่องราวหรือปะติดปะต่อเรื่องราวได้ทั้งหมด หรืออาการ Freeze ฯลฯ ก็สามารถเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้พวกเขาไม่สามารถไปแจ้งความได้ในทันทีก็เป็นได้เช่นกัน 


เมื่อพิจารณาจากมุมมองที่มีผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (A survivor-centred approach) คดีข่มขืนกระทำชำเราเป็นอีกหนึ่งลักษณะคดีที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และยากต่อการจัดการเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยลักษณะความผิดที่เป็นความผิดที่ไม่เพียงกระทบร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการจัดการด้วยความระมัดระวังจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดีก็ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมที่มีอัตราการยอมรับ RMA (Rape Myths Acceptance) สูงอาจส่งผลทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างที่พวกเค้ามีสิทธิพึงจะได้รับ อย่างเช่น การดำเนินการทางกฎหมายสามารถมีความล่าช้าและซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากทัศนคติของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการได้รับการเกลี่ยกล่อมจากตัวคนใกล้ชิดอย่างครอบครัวของผู้ถูกกระทำ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการขจัดและช่วยบรรเทาผลกระทบจากวงจรความรุนแรงและวัฒนธรรมการข่มขืน


การทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การต่อต้าน RMA จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมและเคารพสิทธิของทุกคนเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนกระทำชำเราใหม่หลายครั้งเพื่อให้มีความสอดคล้องและครอบคลุมมากขึ้นกับพลวัตของสังคม หรือมีการเพิ่มการบังคับใช้โทษสูงสุด เช่นการประหารชีวิตผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม หากตัวรัฐยังไม่มีการจัดการกับ RMA อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับรัฐหรือภาคส่วนเอกชน การแก้ไขกฎหมายใหม่อีกกี่ครั้งก็ไม่สามารถทำให้ช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายถูกทำลายลงไปได้ 

10 มายาคติที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นยังสามารถส่งผลกระทบในระดับสังคมได้เช่นกัน นั่นก็คือ การเป็นตัวแปรที่หล่อเลี้ยงทำให้วัฒนธรรมข่มขืนยังคงอยู่ได้ เพราะสังคมมีแนวโน้มที่จะยอมรับในมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืน (Rape Myths Acceptance (RMA)) กล่าวคือ ผู้คนในสังคมยังคงความเชื่อหรือโอบรับทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการข่มขืน ซึ่งมักจะนำไปสู่การช่วยปกป้องผู้กระทำความผิดและตำหนิผู้รอดชีวิตจากการข่มขืน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นวงจรน่ารังเกียจที่คอยหล่อเลี้ยงและอุ้มชูให้วัฒนธรรมดังกล่าวฝังรากฐานอยู่ในสังคมอย่างเหนียวแน่น


ผู้เขียน พรกนก ชัยเรืองศรี

Edited by SHero Team


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของ SHero Thailand ในการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

ตอนนี้ เราเปิดรับบริจาคอยู่ผ่านช่องทางของ @‌Taejai โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และบริจาคได้ที่ 👉🏻 https://taejai.com/en/project/ots-SHero-fund

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


บรรณานุกรม

ปรีชญาภรณ์ จันทร์รักษ์ (2551). กระบวนการขับเคลื่อนของสังคมต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 กับการสร้างวาทกรรมเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สมชาย ปรีชาศิ​ลปกุล. เพศวิถีในคำพิพากษา (เชียงใหม่: เกวลีพริ้นติ้ง, 2558

รณกรณ์ บุญมี. ระหว่างความจริงกับความเชื่อ: ผู้หญิงที่กําลังถูกข่มขืนมีปฏิกิริยาอย่างไร. (2560). ประชาไท. https://prachatai.com/journal/2017/07/72466 

Bibliography

Asanasak, Suprawee 2021. Rethinking Female Subjectivity in Thai Rape Law from a Transnational Legal Feminist Perspective Faculty of Law, Thammasat University funded by the Research Promotion Committee.

BBC News ไทย. (2022, August 30). ข่มขืน : ทําไมสังคมไทยยังไม่เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย กรณีหลานอดีตรัฐมนตรีข่มขืนดาราสาว. https://www.bbc.com/thai/articles/cv2wdg1eyk8o

Burt, Martha R. 1980. Cultural Myths and Supports for Rape. Journal of Personality and Social Psychology 38 (2): 217–30. https://doi.org/10.1037/0022-3514.38.2.217

Brownmiller, Susan. 1975. Against Our Will: Men, Women, and Rape. New York : Simon and Schuster. 

Committee on the Elimination of Discrimination against Women. 3 February 2006. Consideration of Reports Submitted by States Parties under Article 18 of the Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: Concluding Observations of the Committee on the Elimination of Discrimination against Women: Thailand, CEDAW/C/THA/CO/5, United Nations, accessed 28 February 2024. Estrich, Susan. 1987. Real Rape. Harvard University Press.

Hayook, Chatabut. 2022. “Culture of Shame Silences Abuse Victims.” Https://Www.Bangkokpost.Com, May 24, 2022. https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2315370/culture-of-shame-silences-abuse-victims

Lertbunchardwong, Kanittha. 2021. “INVESTIGATION OF THE RAPE MYTH AMONG COLLEGE  STUDENTS, THAILAND.” July 1, 2021. https://www.tojqi.net/index.php/journal/article/view/2293.

Larcombe, W. The `Ideal' Victim v Successful Rape Complainants: Not What You Might Expect. Feminist Legal Studies 10, 131–148 (2002). https://doi.org/10.1023/A:1016060424945

Lonsway, Kimberly A., and Louise F. Fitzgerald. 1994. “Rape Myths.” Psychology of Women Quarterly 18 (2): 133–64. https://doi.org/10.1111/j.1471-6402.1994.tb00448.x.

Parsons, Lian, and Lian Parsons. 2020. “How Rape Culture Shapes Whether a Survivor Is Believed.” Harvard Gazette. August 26, 2020. https://news.harvard.edu/gazette/story/2020/08/how-rape-culture-shapes-whether-a-survivor-is-believed/.

Reynolds, P. (2015). Women’s Agency and the Fallacy of Autonomy: The Example of Rape and Sexual Consent. In: Marway, H., Widdows, H. (eds) Women and Violence. Genders and Sexualities in the Social Sciences. Palgrave Macmillan, London. https://doi.org/10.1057/9781137015129_12

Scheppele, Kim Lane (1987) "The Re-Vision of Rape Law (reviewing Real Rape: How the Legal System Victimizes Women Who Say No by Susan Estrich)," University of Chicago Law Review: Vol. 54: Iss. 3, Article 11. Available at: https://chicagounbound.uchicago.edu/uclrev/vol54/iss3/11

SCHWENDINGER, J. R., & SCHWENDINGER, H. (1974). Rape Myths: In Legal, Theoretical, and Everyday Practice. Crime and Social Justice, 1, 18–26. http://www.jstor.org/stable/29765884

Smith, O., & Skinner, T. (2017). How Rape Myths Are Used and Challenged in Rape and Sexual Assault Trials. Social & Legal Studies, 26(4), 441-466. https://doi.org/10.1177/0964663916680130 

THE TRIAL OF RAPE: Understanding the criminal justice system response to sexual violence in Thailand and Viet Nam. (2017). UN Women – Asia-Pacific.

Walfield, Scott M. 2018a. “‘Men Cannot Be Raped’: Correlates of Male Rape Myth Acceptance.” Journal of Interpersonal Violence 36 (13–14): 6391–6417. https://doi.org/10.1177/0886260518817777.

Wegner R, Abbey A, Pierce J, Pegram SE, Woerner J. Sexual Assault Perpetrators' Justifications for Their Actions: Relationships to Rape Supportive Attitudes, Incident Characteristics, and Future Perpetration. Violence Against Women. 2015 Aug;21(8):1018-37. doi: 10.1177/1077801215589380. Epub 2015 Jun 8. PMID: 26056162; PMCID: PMC4491036. 

World Health Organization: WHO (2003). Guidelines for medico-legal care for victims of sexual violence. 

ข่าว

22 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


©2021 by Shero Thailand. Proudly created with Wix.com

bottom of page